OD คือ สินเชื่ออีกประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลแบบเงินสด สินเชื่อหมุนเวียน ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้เพื่อใช้หมุนเวียนนอกจากเงินส่วนตัว โดยสินเชื่อ OD คือ อะไร มีรายละเอียดอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง
- OD คืออะไร? OD (Over Draft) คือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบหนึ่งของธนาคาร ที่เรียกกันว่า ‘สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี’ โดยมักเป็นนิยมใช้เป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจส่วนตัวเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล (เงินสด) ตรงที่วิธีการคิดดอกเบี้ย โดยจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะส่วนของเงินต้นส่วนที่เบิกออกมา (โดยการสั่งจ่ายเช็ค) เมื่อนำเงินต้นใส่คืนเข้าไปธนาคารก็ถือเป็นการหยุดดอกเบี้ย วงเงินส่วนที่ยังไม่เบิกออกมาก็จะยังไม่คิดดอกเบี้ย ในขณะที่หากเป็นสินเชื่อเงินกู้ประเภทอื่นนั้นโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล (เงินสด) ที่เมื่อเราได้รับเงินกู้ทั้งก้อนโอนเข้าบัญชี ธนาคารก็จะเริ่มคิดดอกเบี้ยในทันทีและผ่อนตามระยะเวลาที่กำหนดโดยคิดตามจำนวนวงเงินที่ขอกู้เป็นขั้นบันได แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าจะมีความยืดหยุ่นสูงมากเพียงใดแต่สินเชื่อ OD คือ สินเชื่อที่เหมาะกับวงเงินกู้ในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินกู้ทั่วไป
- เงื่อนไขในการขอสินเชื่อ OD โดยปกติแล้วธนาคารมักจะไม่ให้ สินเชื่อ OD กับใครง่าย ๆ เนื่องจากอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า สินเชื่อเงินกู้ประเภทดังกล่าว เป็นวงเงินที่ควบคุมยากและมักจะถูกใช้ผิดจุดประสงค์บ่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงต้องการตรวจสอบผู้กู้ให้แน่ใจก่อนว่า มีความสามารถในการชำระหนี้ (ไม่หนีหนี้) แน่นอนหรือไม่ ซึ่งคุณสมบัติสำคัญเด่นของผู้ขอกู้วงเงินสินเชื่อ OD คือ
- เป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
- อายุตั้งแต่ 20-65 ปี
- มีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด
- ไม่มีประวัติค้างชำระเกิน 30 วัน ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
- ไม่เคยมีประวัติปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินใด ๆ
- ไม่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL กับสถาบันการเงินใด ๆ ณ ปัจจุบัน
- ไม่เคยถูกฟ้องร้องและมีคำพิพากษาเป็นฝ่ายผิดเกี่ยวกับการเงิน ถูกอายัดทรัพย์ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูกศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
- เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ธนาคารกำหนด - เอกสารสำหรับขอสินเชื่อ OD
- เอกสารแสดงตน
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อนามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนการค้า - ขั้นตอนในการขอสินเชื่อ OD เบื้องต้น
1. เลือกธนาคารที่ใช้บริการบ่อยและน่าไว้วางใจ
2. แจ้งจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการขอสินเชื่อ OD
3. นำเอกสารข้างต้นไปยื่นให้ธนาคารที่เลือก จากนั้นรออนุมัติและคุยกันถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการ - ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อ OD โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่ต้องเสียมีดังนี้
- ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ
- ค่าธรรมเนียมการจัดการให้กู้ 2-3% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ
- ค่าประกันวงเงิน 5% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ
- ค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานราชการ เช่น ค่าอากรแสตมป์ เป็นต้น - ข้อควรระวัง/ข้อควรรู้เกี่ยวกับการขอสินเชื่อ OD
แม้ว่าสินเชื่อ OD อาจจะมีข้อดีในเรื่องของความยืดหยุ่นอย่างข้างต้นที่กล่าวมาแต่ก็มีข้อเสียในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อชนิดอื่น และนอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังหรือข้อควรรู้ดังต่อไปนี้ - หากใช้เงินกู้สินเชื่อ OD ผิดจุดประสงค์ระวังติดตัวแดง
จุดประสงค์หลักของสินเชื่อ OD คือ เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการระยะสั้นเพื่อรอนำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจเข้ามาลดยอดหนี้ เช่น จ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าแรงพนักงาน แต่ผู้กู้บางรายกลับนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นหรือใช้กับทรัพย์สินระยะยาว เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือย ซื้อรถ ซื้อที่ดินเก็งกำไร ซื้อบ้าน ผลลัพธ์ คือ กระแสเงินเข้าสู่บัญชีช้าลง ทำให้เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่อง เสียเครดิตเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ และต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินจำเป็น สุดท้ายก็ติดตัวแดงในบัญชี - สินเชื่อ OD มีเวลากำหนด
อีกเงื่อนไขหนึ่งของสินเชื่อ OD คือ มีเวลาในการนำเงินมาคืนตามที่ธนาคารกำหนด และมีจำนวนขั้นต่ำในการขอกู้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับธุรกิจของผู้กู้ กฏของธนาคาร รวมถึงประวัติทางการเงิน - ขอกู้สินเชื่อ OD บังคับทำประกันจริงหรือ?
หลายคนเข้าใจว่าสินเชื่อ OD จำเป็นต้องทำต้องทำประกัน อันที่จริงแล้วไม่เชิง เพราะจะเป็นประกันคุ้มครองวงเงินกู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของวงเงินที่ปล่อยกู้ เผื่อในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ผู้กู้เสียชีวิต ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายคุ้มครองเฉพาะยอดเงินกู้เท่านั้น (หรือเรียกว่าใช้หนี้แทน ข้อดีคือ ทำให้ภาระหนี้สินไม่ตกสู่รุ่นหลัง) ซึ่งผู้กู้จะต้องจ่ายแยกต่างหากเป็นรายเดือน แต่ประกันอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้น ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้แต่ธนาคารมักไม่ได้บอกไว้ จึงทำให้เข้าใจผิด - ต้องการปิด/ยกเลิก สินเชื่อ OD ทำอย่างไร?
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ก็คือ การชำระหนี้ OD คือ ชำระได้แบบไม่มีขั้นต่ำ เพื่อให้บัญชีกระแสรายวันกลายเป็นบวก จากนั้นก็แจ้งธนาคารว่าจะขอยกเลิกบัญชี OD ซึ่งในการขอยกเลิก OD นั้น โดยทั่วไปหากมีการยกเลิก/ไถ่ถอนก่อนกำหนดตามที่ให้เงื่อนไขไว้กับธนาคารจะเสียค่าปรับไม่เกิน 3% ของวงเงินสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้น ๆ แต่หากยกเลิกเมื่อครบกำหนดจะไม่เสียค่าปรับ
สุดท้ายนี้การขอสินเชื่อไม่ว่าจะประเภทใดก็ต่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย รวมถึงค่าใช้จ่ายยิบย่อยและเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่คุณควรจำต้องทำความเข้าใจและพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าลืมเลือกสินเชื่อที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด